อาการของหูดหงอนไก่
อาการของหูดหงอนไก่
การแสดงอาการ : คนส่วนใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันดี หลังจากได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วมักจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา ซึ่งประมาณ 80-90% เชื้อเหล่านี้ก็จะถูกกำจัดออกไปได้เองภายใน 2 ปี[4] (ยกเว้นในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ) แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่อาจแสดงอาการออกมาให้เห็นหลังรับเชื้อเข้าไปแล้วหลายเดือนหรือหลายปี จนเกิดเป็นเนื้องอกนูนออกมาอย่างที่เรียกว่า “หูดหงอนไก่” โดยในผู้ชายจะพบหูดหงอนไก่ได้น้อยกว่าในผู้หญิงมาก เนื่องจากลักษณะของผิวหนังที่อวัยวะเพศที่ไม่ค่อยมีซอกหลืบหรือความชุ่มชื้นมากเท่าของผู้หญิง
อาการของหูดหงอนไก่ : หลังจากเนื้อเยื่อติดเชื้อเอชพีวี (HPV) แล้ว ผู้ติดเชื้อนั้นอาจเป็นได้ทั้ง 3 กรณี กล่าวคือ รอยโรคหายไปได้เอง รอยโรคเป็นอยู่เท่าเดิม หรือรอยโรคเป็นมากขึ้น สำหรับรอยโรคที่เกิดหูดหงอนไก่นั้นอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันหรือไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นมากก้อนเนื้อหูดก็จะใหญ่ขึ้นและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในผู้ชายอาจมีปัญหาเรื่องปัสสาวะไม่ออก ส่วนในผู้หญิงอาจตามมาด้วยอาการมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีอาการตกขาว หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น เป็นผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด หูดหงอนไก่จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมากกว่าปกติ (ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการของโรคมากกว่าคนทั่วไป ส่วนในผู้ป่วยเอดส์จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ซึ่งมักจะขึ้นหลายแห่งและเป็นแบบเรื้อรัง)
ลักษณะของหูดหงอนไก่ : หูดจะขึ้นเป็นติ่งเนื้องอกอ่อน ๆ มีสีชมพูหรือสีเนื้อ ผิวขรุขระ ซึ่งจะเริ่มจากรอยโรคเล็ก ๆ แล้วขยายตัวลุกลามใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีลักษณะคล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ บางชนิดอาจเป็นหูดชนิดแบนราบ มักพบได้ที่บริเวณปากมดลูก (ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ 16), อาจเป็นหูดชนิดกลุ่ม ลักษณะเป็นตุ่มขนาด 3-4 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลแดง ม่วง หรือดำ ผิวเรียบหรือขรุขระเล็กน้อย มักเกิดขึ้นที่เดียวพร้อมกันหลายตุ่มและอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ 16, 18) หรืออาจเป็นหูดก้อนใหญ่ โดยมีลักษณะเป็นหูดขนาดใหญ่ที่โตเร็วมาก จนกลายเป็นก้อนใหญ่ปกคลุมอวัยวะเพศไว้ทั้งหมด บางคนอาจเรียกหูดชนิดนี้ว่า “หูดยักษ์” (ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ 16) ลักษณะของรอยโรคจึงมีได้หลายรูปแบบทั้งขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป
ตำแหน่งที่พบหูดหงอนไก่ : เนื่องจากหูดหงอนไก่จะพบได้ตามเนื้อเยื่อของร่างกายชนิดที่สามารถสร้างเมือกได้ที่เรียกว่า “เนื้อเยื่อเมือก” (Mucosa) หูดชนิดนี้จึงชอบขึ้นในบริเวณที่อับชื้นและอุ่น โดยจะพบหูดหงอนไก่ได้ที่บริเวณอวัยวะเพศเป็นหลัก ส่วนในตำแหน่งอื่น ๆ ที่อาจพบได้บ้างก็ได้แก่ ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ ปากมดลูก ช่องปาก ลำคอ หลอดลม เป็นต้น ถ้าในผู้ชายมักจะพบขึ้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างส่วนหัวและส่วนตัวขององคชาตใต้หนังหุ้มปลาย หรือเส้นสองสลึง ส่วนน้อยอาจขึ้นตรงปลายท่อปัสสาวะ และอาจพบขึ้นบริเวณรอบทวารหนักในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ส่วนในผู้หญิงจะพบขึ้นที่ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ในช่องคลอด หรือปากมดลูก รวมไปถึงทวารหนักและบริเวณฝีเย็บ และหากปล่อยไว้ อาจเกิดการลุกลามเข้าไปในท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือตามง่ามขาได้ และในผู้ป่วยรายเดียวกันอาจพบว่าเกิดได้ในหลาย ๆ ตำแหน่งได้ เช่น หากผู้ป่วยมีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก นอกจากจะพบรอยโรคได้ที่อวัยวะเพศแล้วยังอาจพบรอยโรคได้ในทวารหนักอีกด้วย
สาเหตุการเกิดซ้ำ : เนื่องจากไวรัสเอชพีวีจะไม่ทำให้เซลล์ตายหรือสลายไป รวมทั้งไม่ทำให้เกิดการอักเสบ การติดเชื้อจึงมักถูกจำกัดอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุซึ่งไม่เข้าสู่กระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลือง จึงไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาของร่างกายต่อไวรัสได้มากพอที่จะเกิดภูมิต้านทานขึ้นเหมือนโรคอื่น ๆ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น